5. สัตยธรรม

สัตยธรรม  ( 信 )  ซิ่น

ความหมายของคำว่า สัตยธรรม

สัตยธรรม คือการทรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ความจริง จริงใจ พูดจริงทำจริง ซึ่ง หมายถึงสัจจะนั่นเอง

ในเมื่อสังคมมนุษย์เป็นการอยู่รวมกันอย่างเป็นหมู่เป็นเหล่า การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดียวกัน หรือสังคมส่วนรวม ความซื่อสัตย์จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ท่านเหลาจื้อ จึงให้บำเพ็ญธาตุดิน 土 เพราะแผ่นดินมีความหนักแน่นไม่แปรผัน ไม่ว่าสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าสิ่งร้อนหนาวเย็น สะอาดสกปรกจะรดราดอย่างไร ก็สามารถรองรับให้สรรพสัตว์พึ่งพิงอาศัย

ความซื่อสัตย์ของฟ้าดิน จะเห็นได้ว่า การหมุนเวียนเปลี่ยนผันตามฤดูกาลของธรรมชาติ ถ้าหมุนเวียนถูกต้องตามกาลเวลา สรรพสิ่งก็หมุนเวียนถูกต้อง ความสันติสุขก็เกิดขึ้น ดวงดาวทั้งปวงต่างหมุนถูกต้อง ก็ไม่เกิดเหตุวิปริตเพราะฉะนั้นความเป็นสัตยธรรมของฟ้าดิน คือ การกระทำที่ตรงต่อสัจธรรมและสม่ำเสมอ หากเกิดอาการผิดปรกติแม้เพียงเล็กน้อย ภัยพิบัติย่อมบังเกิดขึ้น

มนุษย์ก็เฉกเช่นกัน ถ้าผิดต่อสัตยธรรมของตนเองแล้ว ภัยพิบัติย่อมบังเกิดขึ้นต่อตนเอง ท่านขงจื้อจึงสอนให้บำเพ็ญสัตยธรรม เพื่อสันติสุขของสังคม

สัตยธรรม เขียนเป็นภาษาจีนว่า 信 อ่านว่าซิ่น อันมีความหมายว่า คำพูด กับ คน

人 = คน ที่เขียนด้วยอักษรเช่นนี้ย่อมมีความหมายว่า เป็นผู้ที่ตรงต่อ ฟ้า ดิน

言 = คำพูด มีความหมายว่า ก่อนจะพูดถ้าได้ไตร่ตรองก่อนถึงสามครั้งย่อมไม่ผิดพลาด

การบำเพ็ญสัตยธรรม มนุษย์ทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น การปฏิบัติต่อสามี-ภรรยา ต้องมีความจริงใจต่อกัน การปฏิบัติต่อเพื่อนฝูงต้องมีมโนธรรมและความซื่อสัตย์ และการปฏิบัติต่อศัตรูต้องรู้จักการให้อภัยสังคมนั้นย่อมมีแต่ ความร่มเย็นเป็นสุข

พระพุทธองค์ จึงสอนให้เจริญศีล มุสาวาทาเวรมณี สิกขาปะทังสมาทิยามิ คือการไม่พูดปด พูดเท็จ ให้พูดจริงทำจริง ให้มีสัจจะความซื่อตรงต่อกัน

การบำเพ็ญสัตยธรรมย่อมต้องระมัดระวังต่ออารมณ์ของตัณหา หากปล่อยให้อารมณ์เช่นนี้ครอบงำจิตใจแล้ว ย่อมทำลาย “ม้าม” ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด

รสชาติของอาหาร คือ รสหวาน อาหารที่เป็นพิษต่อร่างกายคือ กระเทียมโทนจีน เพราะเป็นอาหารปลุกตัณหาราคะ ผู้ที่มีตัณหาราคะมากย่อมอายุสั้น

สีอาหารที่เป็นคุณ คือสีเหลือง ให้บำรุงธาตุดิน คนที่ปฏิบัติผิดต่อสัตยธรรมเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเพื่อ บำเพ็ญสัตยธรรม จึงได้กายกำเนิดเป็น “ไก่” ทำหน้าที่บอกกาลเวลาแก่มนุษย์โดยไม่ผิดพลาด

การบำเพ็ญสัตยธรรมมิใช่ของง่าย แต่ใครสามารถปฏิบัติได้ตรงต่อฟ้าดินแล้ว ย่อมอยู่ในหนทางแห่งความเป็นกลางโดยแท้จริง สมัยที่แผ่นดินจีนแบ่งแยก เป็น สามก๊กท่านกวนอู ขุนพลผู้เก่งกล้า สาบานเป็นพี่น้องกับ เล่าปี่และ เตียวหุย ในสวนท้อ ทั้งสามรักษาคำมั่นสัญญาว่า “แม้เกิดคนละวัน แต่ขอตายร่วมวันเดียวกัน” คำมั่นสัญญานี้ลือเลื่องมาตราบจนทุกวันนี้ และท่านกวนอูนั้นเป็นผู้ซื่อสัตย์นัก แม้โจโฉจับไปพร้อมกับฮูหยินของท่านเล่าปี่ ก็มิได้ล่วงเกิน จุดเทียนอ่านหนังสือตลอดคืน เพื่อพิทักษ์พี่สะใภ้

ความซื่อสัตย์อันยิ่งใหญ่เทียมฟ้าเทียมดิน ชื่อเสียงจึงขจรขจายมาจนทุกวันนี้ ชาวจีนเคารพกราบไหว้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

ท่านขงจื้อจึงให้คำสอนที่น่าประทับใจไว้ว่า“จงอภัยให้ผู้อื่น เช่นเดียวกับอภัยให้ตนเอง”

“จงลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับลงโทษผู้อื่น” ถ้าใครสามารถปฏิบัติได้ จิตใจย่อมซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติสัตยธรรมตรงต่อฟ้าดินได้อย่างแน่นอน

เสียชีพอย่าเสียสัตย์ เสียสัตย์ย่อมอายไปชั่วฟ้าจรดแดนดิน

ห้ามพูดปด จะมีสัจจะ คนเชื่อถือดังสัจจะแห่งดิน ให้กำเนิดสรรพสิ่ง

Leave a Reply