บุญกุศลหมด ลมหายใจไม่หมด

หนึ่งในแปดเซียนท่านจงหลีเฉวียน :

บุญสิ้นสุดได้แต่ทนเวทนา
วาสนาหมดได้ อย่าไปโศกกำสรวล
หมดไปเสียก่อนเวลาอันสมควร
ต้องทบทวนอดทนชะตามาเป็นทุน

ในช่วงเวลานี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าใครยังมีบุญมีชะตาที่ดีอยู่ฐานะเขาก็ยังไม่สั่นคลอน แต่ถ้าโชคไม่ดีก็เหมือนบุญหรือวาสนาที่เขาสร้างสมมาหมดไปแล้ว ทำให้สูญเสียยิ่งกว่าสูญเสีย ทำให้ที่เคยมีกลายเป็นไม่มี ใช่หรือเปล่า เราจะทำอย่างไรเมื่อชะตาเราถูกกำหนดมาเช่นนี้ บุญของเราได้หมดไปแล้ว บางครั้งเราพยายามดิ้นรนพยายามค้าขายใหม่ พยายามเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่นับเท่าไรก็ไม่เคยเป็นสองเป็นสามสักที เรายังคงเหยียบย่ำอยู่ที่หนึ่งอยู่ร่ำไป สิ่งที่เราควรทำก็คือ เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงก่อน ปรับใจตนเองว่าเราไม่ใช่สภาพเดิมแล้ว เมื่อปรับใจได้ยอมรับได้ ยอมมองให้เห็นว่าสภาพเช่นนี้เป็นเช่นไร เมื่อมองเห็นแล้วเราต้องตีให้ออกว่า เราควรจะดำเนินอย่างไรต่อไป เมื่อบุญหมด เราก็ต้องรู้จักสร้าง สร้างพละกำลังของตนเองและสร้างอาชีพของตนเองให้ขึ้นมาใหม่ด้วย
ชีวิตของคนเราต่างยังมีลมหายใจ เรายังมีโอกาสสร้างบุญ แม้บุญกุศลที่สร้างวันนี้หมดไปแล้ว แต่เราก็สามารถสร้างต่อไปได้ หากเรายอมรับสภาพเป็นจริง ต่อไปอาจจะเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากร้ายมาเป็นดีก็ได้ อย่าปล่อยให้ตนเองนิ่งเฉยโดยไม่ทำอะไร เอาแต่รอคอยอย่างนี้ชะตาหรือบุญของเราจะเปลี่ยนแปลงได้หรือ อย่างที่เราเคยรู้มาเมื่อหมดบุญแล้วเราก็ต้องเร่งรีบสร้างบุญ ถ้าหากเรายังมีลมหายใจอยู่แต่ถ้าหากเราเกิดหมดบุญพร้อมกับหมดลมหายใจ เราต้องลำบากแน่เพราะเราก็ไม่อาจแก้อะไรได้
เมื่อไรที่บุญหมด ชีวิตหมด สิ่งที่เราเคยทำมาจะมาแก้ไขตอนนี้ก็แก้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เรารู้สึกสำนึกผิด จะมาขอขมาก็ไม่ทันแล้ว จึงมีสำนวนว่า “อย่าให้ตนเองยืนอยู่บนขอบเหวนรก จึงนึกถึงสวรรค์หรือการกระทำความดี” สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดกับคนที่หมั่นทำความดี ถึงแม้ตนเองจะทำความดี แต่ถ้ายังยึดติดในบุญกุศล บุญกุศลนั้นก็ยากจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใช่หรือไม่ เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เวลาทำอะไรก็อดหวังผลไม่ได้ เมื่อมีการหวังผล การกระทำของเราจึงออกไปไม่เต็มที่ เหมือนเวลาเราให้สิ่งของคนๆ หนึ่ง แม้ตอนนั้นเรามีใจอยากให้จริงๆ แต่เรามีความรู้สึกแฝงในใจว่าอยากได้รับกลับ จึงทำให้สีหน้าคำพูด การกระทำที่ออกไปมีความหมายแฝง เหมือนคำพูดคนเรา ถ้าเราอยากจะพูดให้เขารู้ว่า เรารู้สึกกับเขาเช่นไร เราก็จะต้องพยายามขัดเกลาประโยคนั้นให้ดี ให้ใพเราะ ให้เขาไม่สามารถรู้ได้โดยเฉพาะถ้าเราต้องการว่าเขา เพื่อให้เขาเสียหน้า เราก็ต้องเกลาประโยคให้สละสลวยโดยที่ไม่ให้เขารู้ตัว แต่ให้เขาเอาไปคิด การแสดงหรือการกระทำที่มีความคิดแฝงเมื่อกระทำออกไปจึงไม่สมบูรณ์ ผลที่ได้รับก็ย่อมกลับมาไม่สมบูรณ์เช่นกัน
ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อรู้จักฝึกฝนขัดเกลาตนให้มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วจะทำให้เขาเป็นคนที่รักและเมตตาต่อคนอื่นด้วยใจจริงไร้สิ่งเคลือบแฝงหากประชาชนหมั่นฝึกฝนขัดเกลาตนในด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือศีลธรรมแล้ว จะทำให้เขาเป็นคนไม่หยาบกระด้าง มีความสุภาพ และความจริงใจต่อกัน คุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม จึงมีส่วนขัดเกลาจิตใจของคนให้กระทำสิ่งใดแล้วอย่ามีสิ่งเคลือบแฝง และไม่หวังผลตอบแทน ผลนั้นจึงจะกลับมายิ่งใหญ่ สมกับสิ่งที่ตนเองได้ลงแรงไปและเป็นนิจนิรันดร์
ธรรมะดีเช่นนี้ แต่มีน้อยคนนักที่ศึกษาธรรมะตั้งแต่ต้นจนปลายอย่างไม่มีวันขาดสาย ส่วนใหญ่พอรู้แค่ งูๆ ปลาๆ ก็เอาไปใช้ ผลออกมาจึงเป็นแบบปลาๆ และงูๆ

Leave a Reply