พระอาจารย์จี้กง :
ทิฐิทางโลกมัดเร่งคลี่คลาย
มนุษย์เร่งอนิจจญาณเห็นธรรมแจ้ง
ตัดโลภะซึ่งสลายจาคะกล้าแกร่ง
เกิดค่าอนันตโทสะแปลงคลี่คลาย
รู้โลกทุกข์แจ้งญาณด้วยปัญญา
บำเพ็ญพุทธาจึงมีกุศลทั้งหลาย
หากชะละกาละได้เห็นตนพุทธกาย
เกิดตายญาณอนัตตา ณ ภูผาใน
ขอมลายโมหะแล้วศิษย์รักปลง
มายากรงสำรวจเปิดญาณไข
ปฏิบัติตนจิตแผ้วเที่ยงกลางฤทัย
ศิษย์ต่างได้ลดกรรมปลดโลการมณ์
“ทิฐิทางโลกมัดเร่งคลี่คลาย” มีใครลองอธิบายประโยคนี้ไหมให้เข้าใจนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร พูดให้ทุกคนรับรู้ (ทิฐิทางโลกคือความยึดมั่น และกิเลสต่างๆ ที่มัดใจเราอยู่ ให้รีบเร่งคลี่คลายให้หลุดพ้นโดยการปฏิบัติอย่างจริงจัง)
“มนุษย์เร่งอนิจจญาณเห็นธรรมแจ้ว ตัดโลภะซึ่งสลายจาคะกล้าแกร่ง”
อนิจจญาณ แปลว่า จิตใจที่ปล่อยวางได้ ใจที่เป็นอนิจจา
จาคะ คือ การบริจาค ความโลภเป็นตัวสลายการบริจาค คือถ้าเรามีความโลภความอยากได้อยู่เรื่อยๆ เราก็จะไม่อยากบริจาคให้คนอื่นเพราะเรารู้สึกยังโลกและยังอยากได้มากๆ เพราะฉะนั้น เราต้องเสริมจาคะ คือการบริจาคให้แกร่งกล้าขึ้น ความโลภจะได้น้อยลง
“รู้โลกทุกข์แจ้งญาณด้วยปัญญา” อยู่บนโลกรู้ว่ามีความทุกข์มากกว่าสุข การที่เราจะรู้ถึงความทุกข์บนโลกได้ เราต้องใช้ปัญญามาพิจารณาถึงจะรู้ว่าโลกนี้มีความทุกข์
“บำเพ็ญพุทธาจึงมีกุศลทั้งหลาย” (เราบำเพ็ญเดินตามแบบพุทธะอริยะเจ้าทั้งหลาย คือ ฉุดช่วยคน ก็จะทำให้เรามีบุญกุศล)
“หากชะละกาจะได้เห็นตนพุทธกาย” ชะละกาแปลว่า ความชั่วความไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งหากเราเห็นความชั่วความไม่ดีของตนเองเมื่อไรนั่นก็คือ เราได้เห็นตัวตนที่ดีงามที่เหมือนพุทธะ
“เกิดตายญาณอนัตตา ณ ภูผาใน” อาจารย์เห็นว่านักเรียนในชั้นนี้มีภูมิธรรม เพราะฉะนั้น อาจารย์คิดว่าทุกคนในที่นี้ต้องการศึกษาธรรมะให้แจ่มแจ้ง อาจารย์จะยกข้อธรรมจริงๆ แล้วตอนสุดท้ายก็จะรู้คำตอบเพียงคำเดียว (คือคำว่า กุศลมูล ในโอวาทซ้อน)
“ปฏิบัติตนจิตแผ้วเที่ยงกลางฤทัย ศิษย์ต่างได้ลดกรรมปลดโลการมณ์” ถ้าศิษย์ได้ลดกรรมโดยปลดอารมณ์ทางโลก และต้องการจิตที่ผ่องใส ศิษย์จะต้องปลดอารมณ์ทางโลกออกโดยจิตต้องเที่ยง
“ขอมลายโมหะแลัวศิษย์รักปลง มายากรงสำรวจผ่องเปิดญาณไข”โลกนี้เปรียบเสมือนเป็นมายา เป็นกรงขังพุทธจิตไม่ให้ออกไป ถ้าถูกขังจิตใจร่างกายก็มัวหมอง ฉะนั้น พยายามออกจากทุกข์หรือกรงขังที่เป็นมายานี้ให้ได้ ถ้าศิษย์อยู่ในกรง มีเวลาต้องสำรวจจิตใจตนเองทำอย่างไรถึงจะเปิดญาณและมีจิตใจผ่องใสได้ อาจารย์เปิดประตูญาณให้แล้ว ต้องนำประตูนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อมีอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมาศิษย์ก็กำหนดอยู่ที่จุดนี้และตัดอารมณ์ จิตก็จะว่างเหมือนจิตพุทธะและศิษย์จะเป็นพุทธะเดินดิน
ในกลอนอาจารย์บอกว่า เห็นตนพุทธกาย ศิษย์ปฏิบัติได้ทั้งหมดก็จะเห็นว่า ศิษย์เป็นพุทธะคนหนึ่ง
กุศลมูล
อนิจจญาณสลายซึ่งโลภะ
อันโทสะแจ้งทุกขญาณจึงสละได้
มีอนัตตญาณโมหะแล้วมลาย
สำรวจจิตแผ้วผ่องคลายโลการมณ์
พระอาจารย์อธิบายกลอนโอวาทซ้อน คำว่า กุศลมูล
อนิจจญาณสลายซึ่งโลภะ ถ้าเกิดญาณรู้ถึงความอนิจจังว่าโลกนี้เป็นอนิจจาแล้ว ก็จะสลายซึ่งความโลภนี้ได้ อนิจจังคือความไม่เที่ยงเมื่อญาณของศิษย์รู้ถึงความไม่เที่ยงในโลกนี้แล้ว ศิษย์ก็สามารถสลายซึ่งความโลภได้
อันโทสะแจ้งทุกขญาณจึงละได้ โทสะคือความโกรธ ทุกขญาณคือญาณที่รู้ว่าโลกนี้มีทุกข์ ญาณที่เห็นทุกข์ ถ้าศิษย์มีญาณที่เห็นว่าทุกข์แล้ว ก็จะรู้ว่าโทสะคือความโกรธ เมื่อเห็นทุกข์แล้วศิษย์ก็จะไม่โกรธถ้าคนไหนรู้สึกว่าโกรธคนอื่นอยู่ เราจะไม่รู้ตัวเองว่าเราทุกข์ก็จะโกรธไปเรื่อยๆ ถ้าจิตของศิษย์พยายามเข้าใจว่า ทุกข์จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรศิษย์จะเข้าถึงความทุกข์ เมื่อเข้าถึงทุกข์แล้ว ความโกรธทั้งหลาย ศิษย์ก็ต้องรู้ว่า เราจะละความทุกข์โดยการตัดความโกรธ
มีอนัตตญาณโมหะแล้วมลาย อนัตตญาณแปลว่า ความว่างไม่มีตัวตน ถ้าศิษย์หลงอะไรอยู่ ก็เหมือนหลงอยู่ในโลก เพราะเห็นว่าโลกมีตัวตน ถ้าศิษย์รู้ถึงความไม่มีตัวตน ศิษย์ก็จะไม่ไปหลงอะไร
โมหะ คือความหลง อนัตตาคือความว่าง ถ้ารู้ว่าโลกนี้ว่าง ญาณของศิษย์ก็จะไม่มีความหลง เมื่อรู้ว่าตนหลงแล้ว ทำอย่างไรจิตของตัวเองจึงจะว่างได้ ถ้าตัดจากความหลงได้ ก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกเข้าใจ หรือยัง
สำรวจจิตแผ้วผ่องคลายโลการมณ์ ขอให้ศิษย์สำรวจจิตใจตัวเองว่ามีโลภ โกรธ หลง อยู่หรือเปล่า ถ้าหากยังมี ทำอย่างไรให้จิตของศิษย์ผ่องแผ้วขึ้นมาได้ ก็คือ ลดอารมณ์ทางโลก ถึงจะทำให้จิตผ่องใสขึ้นมาได้
กุศลมูล มี 3 อย่าง คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
ส่งเสริมได้โดยธรรม จาคะ เมตตา ปัญญา